ข่าวหนึ่งที่ดูจะโดดเด่นที่สุดในงานลีนักซ์เวิลด์ปีนี้ก็คือ ข่าวการเปิดตัว “ลีนักซ์ออฟฟิศเดสก์ท็อป” (Linux Office Desktop) ซอฟต์แวร์ชุดใหม่จากบริษัทซูซี (SuSe) บริษัทผู้พัฒนาลีนักซ์ชั้นนำของโลกจากประเทศเยอรมัน ความโดดเด่นของ “ลีนักซ์ออฟฟิศเดสก์ท็อป” อยู่ที่ความสามารถในการรองรับวินโดวส์แอพพลิเคชั่น พูดง่ายๆก็คือ มันเปิดโอกาสให้โปรแกรมที่ปกติต้องรันบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) เช่น ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ (Microsoft Office) สามารถรันบนลีนักซ์ได้อย่างไม่มีปัญหา สิ่งนี้ทำให้ผู้ที่กำลังจะเปลี่ยนระบบปฏิบัติการใหม่ หรือคิดว่าจะเปลี่ยนในอนาคตอันใกล้ ตัดสินใจเลือกใช้ลีนักซ์ได้ง่ายขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแอพพลิเคชั่นที่กำลังใช้อยู่ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และมหาศาลสำหรับผู้ใช้กลุ่มองค์กร เพราะก็รู้กันดีอยู่ว่า ค่าไลเซนส์สำหรับวินโดวน์และออฟฟิศของไมโครซอฟท์นั้น ไม่ใช่ถูกๆ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ อาจเป็นเทรนด์สำหรับลีนักซ์ในปีนี้เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากบริษัทซูซีแล้ว ก็ยังมีลินโดวส์ (Lindows) ที่คอยอยู่ในตลาดมาก่อนหน้าไม่นานนัก ขณะที่บริษัทเรดแฮ็ต (Red Hat) ก็เตรียมออกลีนักซ์ซึ่งซัพพอร์ตวินโดวส์แอพพลิเคชั่นตามออกมาในเร็วๆนี้เช่นกัน แล้วก็เชื่อด้วยว่า เทรนด์นี้จะทำให้มีผู้หันมาใช้ลีนักซ์กันมากขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคาใจ ลีนักซ์??? อะไร??? มาจากไหน??? มาได้ยังไง??? เอาเป็นว่า เรามาติดตามกันต่อให้หายข้องใจกันดีกว่า Linux…??? “Linux” ออกเสียงว่า “LIH-nucks” (ลี-นักซ) (คลิกเพื่อฟังเสียงจากลีนัส ทอร์วัลด์) อ้างอิงจาก http://www.linux.org/info/index.html คือระบบปฏิบัติการซึ่งก่อกำเนิดจากงานอดิเรกของ ลีนัส ทอร์วัลด์ (LinusTorvald) นักศึกษาหนุ่มไฟแรงจากรั้วมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ (University of Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ ผู้ที่มีความสนใจในระบบปฏิบัติการยูนิกซ์เป็นพิเศษ และตัดสินใจเริ่มพัฒนาลีนักซ์ในเดือนสิงหาคมปี 1991 จนสามารถคลอดลีนักซ์เคอร์เนล (Linux Kernel) เวอร์ชั่น 1.0 ออกมาได้ในปี 1994 ลีนักซ์เคอร์เนล (Linux Kernel) คือ ชิ้นส่วนหรือคอมโพเนนต์หลักในระบบปฏิบัติการลีนักซ์ คือศูนย์กลางที่คอยประสานการทำงานระหว่างคอมโพเนนต์ต่างๆในระบบปฏิบัติการ หรือเป็นแกนกลางของระบบปฏิบัติการลีนักซ์ดิสทริบิวชั่นใดๆ (Distribution; มีความหมายเท่ากับเวอร์ชั่น) | |
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าดิสทริบิวชั่นต่างๆของลีนักซ์จะต้องเป็นของฟรี บริษัทหรือนักพัฒนาสามารถตั้งราคาสำหรับลีนักซ์ที่เป็นดิสทริบิวชั่นของตัวเองได้ กล่าวคือเมื่อนำซอร์สโค้ดของลีนักซ์ดิสทริบิวชั่นใดๆมาปรับปรุงแก้ไขให้กลายเป็นดิสทริบิวชั่นของตัวเองแล้ว อาจวางจำหน่ายลีนักซ์ดิสทริบิวชั่นใหม่ได้ แต่ต้องให้ซอร์สโค้ดไปด้วย GNU Project...??? ก่อนจะกล่าวถึง GNU General Public License นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำความรู้จักกับ GNU กันสักนิด GNU หรือ GNU Project ออกเสียงว่า “guh-NEW" (ก-นิว) อ้างอิงจาก http://www.gnu.org/ คือโครงการซึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1984 โดย ริชาร์ด สตอลล์แมน (Richard Stallman) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการที่คอมแพ็ต (Compatible; ความสามารถในการทำงานร่วมกัน) กับระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (UNIX) ภายใต้ชื่อ “GNU System” ซึ่งเป็นฟรีซอฟต์แวร์ (Free Software) และนั่นคือที่มาของคำว่า GNU ซึ่งย่อมาจากคำว่า “GNU's Not Unix'' Free Software คำนี้เป็นคำที่มีคนเข้าใจผิดกันมาก เพราะคำว่า Free ใน Free Software นั้น หมายถึง "เสรีภาพ" หรือ "อิสระภาพ" ไม่ใช่ "ราคา" ดังนั้นเราจึงเรียก Free Software ว่า "ซอฟต์แวร์เสรี" ซึ่งมีแนวคิดหรือคอนเซปต์เดียวกับ “โอเพนซอร์ส” (Open Source) สำหรับนิยามของคำว่า Free Software นั้น มีอยู่ทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน คือ 1.มีเสรีในการรันหรือใช้ซอฟต์แวร์สำหรับทุกๆวัตถุประสงค์ 2.มีเสรีในการปรับปรุงแก้ไขซอฟต์แวร์ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ สำหรับข้อนี้นั้น จำเป็นที่เราจะต้องรู้ก่อนว่า การปรับแต่งซอฟต์แวร์ต้องกระทำในส่วนที่เป็นซอร์สโค้ดเท่านั้น หากไม่มีซอร์สโค้ด ก็ไม่สามารถทำได้ หรืออาจจะได้ แต่ยากมากๆ 3.มีเสรีในการก็อปปี้ซอฟต์แวร์เพื่อเผยแพร่ไปยังผู้อื่น ไม่ว่าจะมีราคาค่าตัวหรือไม่ก็ตาม 4.มีเสรีในการเผยแพร่ซอฟต์แวร์ที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมตามความต้องการแล้ว จากนิยามทั้ง 4 ข้อ เมื่อคำว่า Free ถูกตีความไปเป็นคำว่า “เสรีภาพ” หรือ “อิสรภาพ” แล้ว เชื่อว่าหลายๆคนคงได้รับความกระจ่างกับคำถามที่ว่า “ทำไมฟรีซอฟต์แวร์ถึงขายได้???” หรือ “ทำไมลีนักซ์จึงไม่ใช่ของฟรี??? ไหนบอกว่าเป็นฟรีซอฟต์แวร์” อย่างไรก็ตาม รายได้จากการจำหน่ายฟรีซอฟต์แวร์จะกลายเป็นทุนสำหรับการพัฒนาฟรีซอฟต์แวร์ให้ดีขึ้นต่อไป เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง และอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมพัฒนาฟรีซอฟต์แวร์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน จำเป็นต้องมีรายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งรายได้เหล่านั้นก็มาจากเงินบริจาคและจากการจำหน่ายฟรีซอฟต์แวร์นั่นเอง | |
กำเนิด Linux Company Related Links : |